TECHNOLOGY 5G

สร้างความเปลี่ยนแปลงการทำงานของภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่

     เทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทุกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ที่มีเป้าประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างทางดิจิทัล เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย

     เทคโนโลยี 5G ถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งภาครัฐมีความตั้งใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เชื่อมโยงทุกอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในอนาคต

“ การพัฒนามาตรฐาน เทคโนโลยี 5G มีวัตถุประสงค์ที่มากกว่าการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลในระดับบุคคล โดยทำขึ้นมาเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงกันทั้งบุคคลและสิ่งอื่นๆ ในหลายๆภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม มากมายเรียกว่าให้มันสามารถเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งได้ ” ตามคอนเซ็ปต์ “Anything that can be connected, will be connected.” หรืออะไรที่สามารถเชื่อมต่อได้ก็จะถูกเชื่อมต่อด้วยระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด และอะไรที่ต้องการแสดงผลเรียลไทม์จึงจำเป็นต้องมีความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูล

     การพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยี 5G มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยี 5G มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการในการ ติดต่อสื่อสารของสรรพสิ่ง (Machine centric communication) ในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม การแพทย์ สาธารณสุข โลจิสติกส์ การผลิต การรักษาความปลอดภัย สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น การที่เทคโนโลยี 5G สามารถรองรับการติดต่อสื่อสารในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ จะส่งผลให้โลกของเราก้าวสู่ ยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ตามมาด้วยการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ หรือที่เรียกว่า Internet of things (IoT) และการทำงาน แบบอัตโนมัติ (Automation) จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมจะมีความแข็งแกร่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และฉลาดขึ้น โดยการทำงานการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ (Machine to Machine) เชื่อมต่อกับเครื่องมือ ยานพาหนะหรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่มีการติดตั้งอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และเครือข่ายในการเชื่อมต่อต่างๆ จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งข้อมูลถึงกัน ที่ความล่าช้าน้อยมาก และมีการพัฒนาจนสามารถทำในสิ่งที่ข้ามขีดความจำกัดในอดีตได้ ยกตัวอย่างเช่น การแพทย์ ที่หมอสามารถผ่าตัดทางไกลคนไข้ที่อยู่อีกประเทศหรือซีกโลกได้ เป็นต้น รวมทั้งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ขนาดใหญ่ และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล

คุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G

     5G เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายเจเนอเรชันที่  5 ที่มีการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องของความเร็ว Upload และ Download บนเครือข่ายไร้สายให้เสถียร และเร็วขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยี 4G ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ 5G จะสามารถทำความเร็วได้เร็วกว่าถึง 10 เท่า ซึ่ง 5G ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 20 Gbps ในขณะที่ 4G นั้นสามารถทำได้สูงสุดที่ 1Gbps เท่านั้น

  • ความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล : 20 Gbps
  • Latency ในการเชื่อมต่อปลายทางทำได้เร็วและนิ่งขึ้น (<1ms) จึงทำให้เหมาะกับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
  • รองรับการใช้งานเครือข่ายในปริมาณที่มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า
  • ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 20 Gbps
  • ช่วงคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น 30 GHz

(ที่มา : https://www.checkraka.com/)

อีอีซี มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

     เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น และรองรับอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับการบริหารจัดการภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Smart Industrial Estate, Smart Factory, Smart Building Management และ IoT & Smart Communication ดึงดูดการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ผลักดันศักยภาพทำเลเศรษฐกิจ และเมืองใหม่ก้าวสู่การเป็น Smart City อย่างครบวงจรเสริมแกร่งด้าน SEA นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในกิจการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแหลมฉบัง เพื่อให้สามารถควบคุมเครนยกตู้สินค้าได้จากระยะไกล เป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนระบบรักษาความปลอดภัย CCTV Via 5G และ Security Control Building ปั้นท่าเรือไทยสู่การเป็น Smart Port เสริมแกร่งด้าน AIR ยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา สู่การเป็น Smart Airport แห่งยุค New Normal ด้วย 5G และเทคโนโลยีดิจิทัล Facial Recognition และ Object Detection

(ที่มา : https://techsauce.co/)