BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืน ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน ไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยใช้ข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดเป็นโอกาส เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

     อีอีซี ได้จัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) Thai- German Business Forum: Strategic Partnership on BCG Economy in the Eastern Economic Corridor (อีอีซี) of Thailand จัดโดย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ร่วมกับ German Chambers ASEAN Business Council เพื่อชักจูงนักลงทุนและให้ข้อมูลความคืบหน้าโครงการ พร้อมทั้งสร้างโอกาสการลงทุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้แก่ นักลงทุนและภาคเอกชนเยอรมันที่สนใจ โดยมีนายสุวพงศ์ ศิริสรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และ Mr. Stefan Messer ประธานสมาพันธ์ธุรกิจเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเยอรมนี (OAV) ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนไทยและเยอรมันร่วมเป็นวิทยากร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด บริษัท ครีเอจี้ จำกัด บริษัท TÜV SÜD (Thailand) Ltd. และบริษัท Lorenz & Partners Co., Ltd.

     ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้นำเสนอ โอกาสการลงทุนเพิ่มเติม ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ในพื้นที่อีอีซี ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) สุขภาพ (2) ดิจิทัล (3) Decarbonization ซึ่งครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility และ (4) โลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Green and Circular Economy) โดยได้เน้นย้ำศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ในการมุ่งสู่พื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ในภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการพื้นฐานรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตลอดจนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในอีอีซี โดยกลุ่มผู้เข้าฟังสัมมนาได้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 93 คน ทั้งจากประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

(อ้างอิง)